ยี่กอฮง บทความนี้ผมจะพามาเปิดประวัติพระเครื่องของเจ้าพ่อยี่กอฮง พระเครื่องสายพนัน พูดได้ว่าใครมีอยู่ในครอบครอง ถ้าแท้ ตรงรุ่น ขายได้แน่นอน เพราะนิยมมากในกลุ่มผู้ติดตาม
ยี่กอฮง
ประวัติ ยี่กอฮง
ประวัติของยี่กอฮงนั้น ส่วนที่เชื่อว่า เกิดในประเทศไทย ยี่กอฮงเป็นบุตรนายเกีย แซ่แต้ ชาวจีน กับนางเกิด ชาวไทย ซึ่งเมื่อยี่กอฮงถือกำเนิดมานั้น นายเกียผู้เป็นบิดาได้ตั้งหลักฐานอยู่ในพระนคร โดยเปิดร้านค้าขายผ้าอยู่ที่หัวมุมสี่กั๊กพระยาศรี เสาชิงช้า ด้านถนนบำรุงเมือง เมื่ออายุประมาณ ๗ ขวบ บิดาและมารดาถึงแก่กรรม ญาติฝ่ายบิดาที่เป็นคนจีนจึงรับกลับไปอยู่ที่เมืองจีนจนกระทั่งอายุ ๑๖ ปี จึงกลับมายังประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ และไม่ได้กลับไปประเทศจีนอีกเลย โดยได้เข้าทำงานเป็นเสมียนโรงบ่อนของพระยาภักดีภัทรากร (เล่ากี้ปิง) แต่บางตำรากล่าวว่า ท่านเกิดในประเทศจีน ยี่กอฮงเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่ถือกำเนิดในมณฑลกวางตุ้ง ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่ออายุ ๑๖ ปี ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยตั้งปณิธานว่าจะประกอบอาชีพค้าขายในสยามตลอดชีวิต
ได้ประกอบกิจการค้าหลายอย่าง แต่ที่ได้สร้างฐานะให้ท่านจนรุ่งเรืองก็คือ การเป็นเจ้าภาษี โรงต้มกลั่นสุรา โรงบ่อนเบี้ย โรงหวย กอขอ เจ้าพ่อยี่กอฮง เป็นผู้มีโชคดีมีโชคทางการเสี่ยงโชค การพนัน ทุกชนิด ทำให้บรรดาคอหวยทั้งหลายนิยมมาขอหวยที่นี่ ส่วนหนึ่งเพราะในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านเป็นเจ้าของโรงหวย และมีส่วนสำคัญในการริเริ่มให้เล่นหวยขึ้นในประเทศ
เมื่อมีการออกพระราชบัญญัติเลิกอากรบ่อนเบี้ย และหวย กอขอ ท่านจึงได้หันไปประกอบกิจการค้าอื่นๆ อาทิ เรือเดินทะเลไปเมืองจีน ทำโรงสีข้าวและอื่นๆ แต่ปรากฏว่ากิจการเหล่านั้นกลับสร้างหนี้สินให้ท่านเป็นจำนวนมาก ซึ่งในที่สุดท่านก็ถูกฟ้องเป็นคนล้มละลาย และถูกยึดทรัพย์เป็นของหลวง แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่เสียสละเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ทั้งการตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และมูลนิธิอื่นๆ ตั้งโรงเรียน สร้างสะพาน สร้างถนน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ยี่กอฮงอาศัยอยู่ในบ้านนี้ต่อไปจนตลอดชีวิต
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงทราบถึงคุณความดีและทรงพอพระทัยอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระอนุวัฒน์ราชนิยม”รองหัวหมื่น กรมมหาดเล็ก เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ และพระราชทานนามสกุล “เตชะวณิช” ตำแหน่งนายอากร เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑
ในชีวิตท่านยี่กอฮงมีส่วนในการบริจาคทรัพย์สินและได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้อย่างมากมาย เช่น ถนน, สะพานฮงอุทิศ สะพานนิยมนฤนาถ สะพานอนุวัฒนโรดม, โรงเรียนวัดสะพานสูง (โรงเรียนโยธินบูรณะ), โรงเรียนป้วยเองหรือโรงเรียนเผยอิง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓, ศาลเจ้าเก่าถนนทรงวาด, ศาลเจ้าไต้ฮงกง, ก่อสร้างท่าน้ำฮั่วเซี้ยม, ริเริ่มก่อตั้งโรงพยาบาลเทียนฟ้า เป็นต้น ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งขึ้น โดยชักชวน เหล่าพรรคพวกเพื่อนฝูงในสมัยนั้น มาร่วมกันสร้างมูลนิธิช่วยเหลือผู้ยากไร้ตกทุกข์ได้ยากและสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนดีแต่ยากไร้ อีกทั้งยังเป็นผู้มีส่วนในการรณรงค์หาเงินเข้าสภากาชาดไทยอย่างมากมาย
เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ รองหัวหมื่นพระอนุวัตน์ราชนิยมได้เสียชีวิตลงอย่างสงบในบ้านของท่าน สิริอายุรวม ๘๗ ปี ศพของท่านได้นำกลับไปฝัง ที่สุสานในเมืองปังโคย ประเทศจีน ขณะเดียวกันหลวงอดุลเดชจรัส ผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในสมัยนั้นมีความต้องการใช้บ้านของท่านมาเป็นโรงพักกลางแทนโรงพักสามแยกที่ถูกไฟไหม้เสียหายไป จึงทำการรื้อตัวอาคารเดิมทั้งหมดทิ้งลง แล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน และสร้างศาลพ่อปู่เจ้ายี่กอฮงไว้บนโรงพักแห่งนี้ด้วย
มีคติความเชื่อว่า เจ้าพ่อยี่กอฮง เป็นผู้มีโชคดีมีโชคทางการเสี่ยงโชค การพนัน ทุกชนิด เพราะสมัยท่านมีชีวิตท่านเป็นนักพนันตัวยงเลย จึงทำให้ผู้ที่ได้ยินชื่อเสียงของท่านต่างพากันหารูปเคารพมาบูชาไว้ ผู้ที่บูชาเจ้าพ่อยี่กอฮง จะไม่ผิดหวังเลย ดูของที่แก้บนต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง หรือที่สถานีตำรวจพลับพลาไชยก่อนหวยออก ๑ วันจะมีผู้มาขอหวยกันมากที่สุด ถ้าบนบานศาลกล่าวและถูกหวย นิยมแก้บนด้วยการนำข้าวขาหมู โอยั้ว น้ำชาดอกดาวเรือง หมากพลูบุหรี่ และซิการ์มาถวาย
สถานที่ก่อตั้งศาล ยี่กอฮง
ศาลเจ้ายี่กอฮง เลขที่ ๔๔๗ ตั้งอยู่ที่ชั้น ๔ ของ สน.พลับพลาไชย ๑-๒ ถ.พลับพลาไชย ตั้งอยู่เยื้อง กับศาลเจ้าไต่ฮงกง เปิดช่วงเช้า-ช่วงเย็น เวลาเปิดปิดไม่แน่นอน
พระเครื่อง ยี่กอฮง
ยี่กอฮงรุ่นไพลินคาสิโน